“พระปิดตา” เป็นพระเครื่องประเภทหนึ่ง ซึ่งมีพุทธศิลปะเป็นเอกลักษณ์แตกต่าง จนกลายเป็นความโดดเด่นและได้รับความนิยม
พุทธลักษณะของพระปิดตา เป็นรูปองค์พระที่ค่อนข้างอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์ บางสำนักจะทำเป็นรูปมือเพิ่มอีก 2 ข้าง เอื้อมไปปิดทวารด้านล่าง (วงการเรียก“โยงก้น”) อีกด้วย
ประวัติการสร้างพระปิดตาในสยามประเทศ เริ่มต้นในยุคอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานที่พบพระปิดตายุคแรกเป็นเนื้อโลหะ ได้แก่ พระปิดตากรุวัดท้ายย่าน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ต่อมาจึงมีการสร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักและพระปิดตาอื่นๆ เช่น พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี
เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายตั้งแต่ตอนต้นยุครัตนโกสินทร์เรื่อยมา มีพระเกจิอาจารย์หลายสำนักจัดสร้างพระปิดตาขึ้นและได้รับความนิยมไปทั่ว
ลักษณะเด่นของพระปิดตา นับเป็นพระเครื่องที่แสดงถึง “นัย” หรือ “ปริศนาธรรม” แห่งงานพุทธศิลปะอย่างโดดเด่น ยากจะหาพระเครื่องประเภทใดเทียบเทียมได้
ในโอกาสอายุวัฒนมงคล 50 ปี พระครูวศินปริยัตยากร (พระอาจารย์โชคดี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม (วัดพิชัยญาติ) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ได้จัดสร้าง “พระปิดตา เสาร์ 5 มหาโภคทรัพย์” เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนเรียนดี และใช้เป็นทุนสาธารณประโยชน์การกุศลต่างๆ
ประกอบพิธีพุทธาภิเษกเมื่อวันเสาร์ที่ 28 มี.ค.2563 ซึ่งเป็นวันเสาร์ 5 ที่วัดคลองเตยใน โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำนวนมากร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิต
สำหรับมวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างล้วนเป็นมวลสารที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น อาทิ ผงใบลานเก่า ผงเกสรดอกไม้ ผงว่านร้อยแปด ผงพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ ผงพระสังกัจจายน์ปิดตาวัดคลองเตยใน ว่านเศรษฐีว่านมหาโชค ว่านมหาลาภ ว่านกวักเงิน กวักทอง
ว่านเสน่ห์จันทน์หอม ว่านเศรษฐีกวักทรัพย์ ว่านนกคุ้ม ว่านเจ้าสัว ว่านขุมทรัพย์ ว่านทรัพย์เศรษฐี ว่านไก่ฟ้าพญาลอ ว่านช้างเผือก ไม้กาฝากรัก กาฝากมะรุม กาฝากมะยม กาฝากทับทิม กาฝากมะขาม กาฝากกาหลง กาฝากขนุน กาฝากคูน กาฝากยอ และผงเก่าเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ
พระปิดตา เสาร์ 5 มหาโภคทรัพย์ ด้านหน้าองค์พระ พิมพ์ปิดตานั่งบัวห้าดอก จีวรลายดอกพิกุล รูปองค์อ่อนช้อย ผสมผสานด้วยพุทธศิลป์
ส่วนด้านหลังองค์พระ ประจุมหายันต์ศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ยันต์ อิ สวา สุ, นะ มะ อะ อุ, นะ โม พุท ธา ยะ, นะ มะ พะ ทะ, สุ นะ โม โล, นะ ชา ลี ติ, นะเงิน, นะ สาลิกา.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น